เลขาธิการ ป.ป.ส. ให้สัมภาษณ์ในประเด็น การบำบัดรักษายาเสพติดตามนโยบาย “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย”
ประเด็นคำถามที่ ๑ แนวทางการบำบัดรักษายาเสพติด “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย”ในปัจจุบันเป็นอย่างไร และมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับระบบการบำบัดรักษายาเสพติดไว้อย่างไรบ้าง (บุคลากร/สถานที่/การให้ข้อมูล) รวมถึงขั้นตอนในการบำบัดรักษายาเสพติดเป็นอย่างไร ประเด็นคำถามที่ ๑ แนวทางการบำบัดรักษายาเสพติด “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย”ในปัจจุบันเป็นอย่างไร และมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับระบบการบำบัดรักษายาเสพติดไว้อย่างไรบ้าง (บุคลากร/สถานที่/การให้ข้อมูล) รวมถึงขั้นตอนในการบำบัดรักษายาเสพติดเป็นอย่างไร
เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะให้โอกาสผู้เสพผู้ติดยาเสพติดทุกรายได้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูที่มีคุณภาพมาตรฐาน โดยยึดหลัก “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” มาโดยตลอด ซึ่งในช่วง ๒ - ๓ ปีที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐได้กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาผู้เสพผู้ติดยาเสพติดภายใต้แนวคิด “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” มาตลอด นอกจากการปรับกฎหมายผ่านประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๑๐๘/๒๕๕๗ ที่ได้ให้โอกาส ผู้เสพเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูฯ ในระบบสมัครใจแล้ว ยังได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเข้ามาปรับระบบการบำบัดรักษาให้มีมาตรฐาน ซึ่งเป็นการสั่งการจากที่ประชุมศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ ครั้งที่ ๒/๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๙ ที่มี พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติในสมัยนั้นเป็นประธาน โดยในการปรับระบบการบำบัดรักษาดังกล่าว จะดำเนินการควบคู่ไปกับการทำความเข้าใจต่อสาธารณชนและการปรับกฎหมายในระยะเวลากว่า ๑ ปีที่ผ่านมา ได้มีการปรับระบบการบำบัดรักษาในเรื่องต่างๆ ดังนี้ ๑) ด้านโครงสร้าง กระทรวงสาธารณสุขได้วางกลไกการทำงานตั้งแต่ระดับเขตสุขภาพ ถึงระดับพื้นที่ (รพ.) เพื่อทำหน้าที่อำนวยการและกำกับติดตามการบำบัดรักษาในทุกระบบให้เป็นไปอย่างมีมาตรฐาน ๒) ด้านระบบบริการ จัดตั้งศูนย์คัดกรองในสถานพยาบาล ระดับอำเภอ/เขตจำนวน ๙๓๘ แห่ง ขยายการให้บริการถึงในระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อให้ผู้ป่วยยาเสพติดสามารถขอเข้ารับคำปรึกษาและรับการบำบัดฯ ได้อย่างสะดวก โดยมีโรงพยาบาลที่ให้บริการถึง ๑๐,๗๖๓ แห่งทั่วประเทศบุคลากรสาธารณสุขกว่า ๒,๕๐๐ ราย แบ่งเป็นแพทย์ที่ผ่านการอบรมยาเสพติด/จิตแพทย์ จำนวน ๕๑๑ ราย มีพยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ที่ผ่านการอบรมกว่า ๒,๐๐๐ ราย ๓) พัฒนาคุณภาพมาตรฐานการบำบัดรักษาทุกระบบ ตั้งแต่ระบบสมัครใจ ระบบบังคับบำบัด และระบบต้องโทษ โดยการจัดทำคู่มือและมาตรฐานการบำบัดรักษาในระบบต่างๆ เช่น
- “มาตรฐานศูนย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม” “มาตรฐานแกนกลางศูนย์ฟื้นฟูฯ ในระบบบังคับบำบัดแบบควบคุมตัว” “มาตรฐานการบำบัดในระบบต้องโทษ” ๔) แก้ไขปัญหาผู้เสพผู้ติดยาเสพติดอย่างรอบด้าน โดยมุ่งเน้นการลดปัญหาผลกระทบที่เกิดจากยาเสพติด เช่น
- มาตรการลดอันตรายจากยาเสพติด (Harm Reduction) เพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพและสังคม ตามคำสั่ง ศอ.ปส.ที่ ๒/๒๕๖๐ ลงวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ กำหนดแนวทางการดำเนินงานลดอันตรายจากยาเสพติด ในพื้นที่ ๓๖ จังหวัด และ กทม. โดยในขณะนี้ เรามีสถานพยาบาลถึงในระดับ รพ.สต. ขึ้นไป ในการให้คำปรึกษาเพื่อลดอันตราย การตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อต่าง ๆ การให้บริการด้านยาเสพติดและสุขภาพกายและจิต
- ดำเนินการป้องกันและเฝ้าระวังผู้ใช้ยาเสพติดที่มีอาการทางจิตและอาจไปทำอันตรายต่อตัวเอง และคนรอบข้างตามที่ปรากฏตามสื่อมวลชนนั้น ในเรื่องดังกล่าวสำนักงาน ป.ป.ส. ได้ร่วมกับกรมสุขภาพจิตในการกำหนดแนวทางในการป้องกันและเฝ้าระวัง โดยการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ รวมถึง ผู้นำชุมชน อาสาสมัคร ร่วมสังเกตพฤติกรรม และถ้าพบว่าเข้าข่ายจะมีอาการทางจิตสามารถแจ้งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองมารับตัวไปบำบัดรักษาได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่ง ซึ่งจะมีระบบการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลเฉพาะทางต่อไปหรือในกรณีที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นแล้ว เช่น คนไข้มีอาวุธ หรือกำลังจะก่อเหตุรุนแรงสามารถแจ้งไปได้ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน สายด่วน ๑๖๖๙ เพื่อขอความช่วยเหลือซึ่งทางสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินจะมีศูนย์ในระดับพื้นที่เข้าไปช่วยระงับเหตุและนำผู้ป่วยเข้ารับการรักษา สำหรับการบำบัดรักษายาเสพติด มีขั้นตอนง่าย ๆ ๔ ขั้นตอน ได้แก่ ๑. ขั้นเตรียมการ (Pre-Admission) ได้แก่ ขั้นตอนของการสอบถามอาการ การตรวจร่างกาย การประเมินคัดกรองและการนัดหมายให้เข้ารับการบำบัด ๒. ขั้นถอนพิษยา (Detoxification) เป็นการบำบัดอาการทางกาย ที่เกิดจากการใช้ยาเสพติด มีทั้งแบบผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกขึ้นอยู่กับสภาพการเสพการติด ๓. ขั้นตอนการฟื้นฟูสมรรถภาพ (Rehabilitations) เป็นการปรับสภาพร่างกายจิตใจและสังคมของผู้เลิกยาให้มีความเข้มแข็ง ปรับเปลี่ยนบุคคลิกภาพและพฤติกรรม ให้สามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติสุข ๔. การติดตามดูแล (After-Care) เป็นการติดตามดูแลผู้เลิกยาเสพติดที่ผ่านการบำบัดรักษา ทั้ง ๓ ขั้นตอนแล้ว เพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้ผ่านการบำบัดรักษายาเสพติด
ประเด็นคำถามที่ ๒ สาระสำคัญของประกาศสำนักงาน ป.ป.ส. ลงวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๐ ตามประกาศคสช. ที่ ๑๐๘/๒๕๕๗ ประเด็นคำถามที่ ๒ สาระสำคัญของประกาศสำนักงาน ป.ป.ส. ลงวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๐ ตามประกาศคสช. ที่ ๑๐๘/๒๕๕๗
เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐๘/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗ เรื่อง การนำผู้ต้องสงสัยเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดที่ไม่มีความผิดฐานอื่น หรืออยู่ระหว่างรอลงอาญา หรือมีของกลางเกินกว่าที่กำหนด ซึ่งเราถือว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มผู้ป่วยได้มีโอกาสเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูโดยไม่ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย และได้รับการบำบัดที่มีคุณภาพโดยเร็วก่อนที่จะเกิดภาวะอันตรายต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม ซึ่งประกาศดังกล่าวเป็นการให้โอกาสแก่ผู้เสพยาเสพติดทุกคนได้เข้ารับการบำบัดฯ ที่เหมาะสมกับสภาพการเสพ รวมไปถึงเมื่อบำบัดรักษาเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วสามารถขอรับการช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ ในด้านต่าง ๆ ทั้งในเรื่องของทุนประกอบอาชีพ การพัฒนาฝีมือแรงงาน การขอเข้ารับการศึกษาเพื่อให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุขนับจากที่ประกาศ คสช. ฉบับที่ ๑๐๘/๒๕๕๗ ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ พบปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น ผู้เสพที่ยินยอมเข้ารับการบำบัด แต่พอถึงเวลากลับไม่เข้ารับการบำบัดตามที่กำหนด โดยมีพฤติกรรมฝ่าฝืนไม่เข้ารับการบำบัดฯ หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อกำหนดของสถานบำบัดฟื้นฟู จนเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อความสงบสุขและความเชื่อมั่นของประชาชน
จากปัญหาดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้ สำนักงาน ป.ป.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการประชุมหารือร่วมกัน เพื่อปรับแนวทางในการดำเนินการกับผู้ต้องสงสัยว่าเสพ โดยเพิ่มกระบวนการเก็บหลักฐานสำหรับประกอบการดำเนินคดี เพื่อไม่ให้กลุ่มคนที่มีพฤติการณ์หลบเลี่ยงไม่เข้าสู่การบำบัดฟื้นฟูอาศัยช่องว่างดังกล่าวในการให้ความยินยอมเพื่อจะได้ไม่ต้องถูกดำเนินคดี แต่กลับไม่เข้าสู่การบำบัดฯ รวมไปถึง ผู้ที่มีพฤติกรรมเสพซ้ำซากหรือไม่มีความตั้งใจที่จะเลิกยาเสพติด โดยมีแนวทางการปฏิบัติเพิ่มเติมจากแนวทางเดิมในสาระสำคัญ ดังนี้ ๑. ให้เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดนำส่งตัวผู้ต้องสงสัยไปยังศูนย์เพื่อการคัดกรองและให้ศูนย์เพื่อการคัดกรองส่งปัสสาวะไปตรวจเพื่อรับรองผลในขั้นที่สอง (ตามแนวทางการตรวจพิสูจน์สารเสพติดในปัสสาวะตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๖๐ ของกระทรวงสาธารณสุข) เพื่อเก็บเป็นหลักฐานในการดำเนินคดี ๒. ในกรณีที่ศูนย์เพื่อการคัดกรองไม่เปิด เนื่องจากเป็นวันหยุดราชการหรือเป็นช่วงเวลากลางคืนให้นำตัวผู้ต้องสงสัยไปยังสถานีตำรวจ เพื่อให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่นั้นลงบันทึกประจำวัน พร้อมกำหนดวันและเวลาให้ผู้ต้องสงสัยต้องไปแสดงตนที่ศูนย์เพื่อการคัดกรอง ซึ่งก็คือวันเปิดทำการวันแรก และให้พนักงานสอบสวนส่งเอกสารต่างๆ และตัวอย่างปัสสาวะไปยังศูนย์เพื่อการคัดกรอง เพื่อดำเนินการตรวจรับรองผลในขั้นที่สองต่อไป ๓. กรณีที่ผู้ต้องสงสัยฯ ไม่ไปยังศูนย์เพื่อการคัดกรองหรือไม่ไปบำบัดฟื้นฟูฯภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ศูนย์เพื่อการคัดกรองหรือสถานบำบัดฟื้นฟู จัดทำบันทึกการไม่มาแสดงตัวพร้อมเอกสารหลักฐานส่งไปยังพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่นั้นดำเนินการออกหมายเรียก เพื่อนำส่งเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูในระบบบังคับบำบัดต่อไป ๔. การติดตามให้ดำเนินการนัดหมายให้ผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูมาแสดงตนเพื่อรับการติดตามดูแลช่วยเหลือภายหลังการบำบัดฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องทุกเดือนตลอดระยะเวลา ๑๒ เดือน และให้มีการตรวจปัสสาวะผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูทุกครั้ง โดยให้ศูนย์เพื่อประสานการดูแลผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูอำเภอประสานขอความร่วมมือจากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอหรือโรงพยาบาลชุมชนในการดำเนินงาน สำนักงาน ป.ป.ส. คาดหวังว่าการดำเนินการปรับประกาศ สำนักงาน ป.ป.ส. ในครั้งนี้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะให้ผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดได้มีโอกาสเข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟู และให้ความร่วมมือเข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟู รวมทั้งการมารายงานตัวอย่างเพื่อรับการติดตามต่อเนื่องภายหลังการบำบัดฟื้นฟู ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แก่ตัวผู้เสพยาเสพติดเองที่จะได้มีโอกาสได้รับการดูแล และช่วยเหลือจนสามารถกลับไปประกอบอาชีพหรือใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข
ประเด็นคำถามที่ ๓ สถิติของการเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติด กลุ่มผู้เข้ารับการบำบัดรักษา ในปีงบประมาณ ๒๕๖๐ และอัตราการกลับไปเสพซ้ำ
เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า ในปีงบประมาณ ๒๕๖๐ มีจำนวนผู้เข้ารับการบำบัด จำนวน ๑๙๓,๘๔๒ คน โดยมีผู้เข้ารับการบำบัดรักษาซ้ำในรอบ ๒ ปี (ผู้เสพซ้ำ) จำนวน ๔,๔๕๓ คน คิดเป็น ร้อยละ ๒.๓๐ ทั้งนี้ จากการประมวลผลในรอบปีงบประมาณ ๒๕๕๘-๒๕๖๐ พบว่า มีผู้เข้ารับการบำบัดเฉลี่ย จำนวน ๕๘๖,๕๖๗ คน มีผู้เข้ารับการบำบัดรักษาซ้ำในรอบ ๒ ปี (ผู้เสพซ้ำ) เฉลี่ย จำนวน ๓๗,๙๑๓ คน คิดเป็น ร้อยละ ๖.๔๖
ประเด็นคำถามที่ ๔ สำนักงาน ป.ป.ส. มีแนวทาง/นโยบายในการส่งเสริมอาชีพ และให้โอกาสผู้ผ่านการบำบัดอย่างไร เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุขในสังคม
เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า สำนักงาน ป.ป.ส. มีแนวทางในการให้ความช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติด ภายใต้ "โครงการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติด" โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ การให้ความช่วยเหลือเรื่องทุนประกอบอาชีพแก่ผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติด ในอัตรารายละไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท เพื่อให้ความช่วยเหลือเรื่องทุนประกอบอาชีพแก่ผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติด เพื่อให้คนเหล่านี้มีรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว สามารถกลับไปอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงลดอัตราการกลับไปเสพยาเสพติดซ้ำ โครงการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติด เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี ๒๕๕๙-ปัจจุบัน มีผู้ผ่านการบำบัดได้รับทุนประกอบอาชีพไปแล้วกว่า ๑,๖๐๐ ราย ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ช่างฝีมือ ค้าขาย และรับจ้าง ตามลำดับ ซึ่งเมื่อให้ทุนไปแล้ว สำนักงาน ป.ป.ส. และองค์กร ภาคประชาชนได้ไปติดตามดูแลการประกอบอาชีพของคนเหล่านี้ พบว่า กว่าร้อยละ ๙๐ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเปลี่ยนแปลงตนเองจากภาระของสังคม กลับมาเป็นพลังของครอบครัว ชุมชนและสังคมได้ ซึ่งถือว่าเป็นการดำเนินการแก้ไขปัญหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลให้ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน ลดระดับความรุนแรงลง
ประเด็นคำถามที่ ๕ ในกรณีที่ต้องการเข้ารับการบำบัดรักษาสามารถติดต่อได้ที่ไหนบ้าง และต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า ผู้ที่ใช้ยาเสพติดที่มีความประสงค์จะเข้ารับการบำบัดรักษา หรือผู้ปกครอง หรือครอบครัว สามารถนำผู้เสพ ซึ่งเราถือว่าเป็นผู้ป่วยเข้ามารับการบำบัดรักษาได้ที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง ซึ่งอาจจะเป็น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือโรงพยาบาลชุมชนที่เป็นโรงพยาบาลระดับอำเภอ ที่มีอยู่กว่า ๑ หมื่นแห่งทั่วประเทศ รวมไปถึงโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลเฉพาะทาง ซึ่งได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์ ที่มีอยู่ ๗ แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ ที่จังหวัดปทุมธานี เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี และโรงพยาบาลในสังกัด กรมสุขภาพจิต จำนวน ๑๖ แห่ง
โดยการบำบัดรักษายาเสพติดจะไม่มีการเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่เสียประวัติ และได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมตามสภาพการเสพติดจากทีมงานสาธารณสุข รวมไปถึง ผู้เสพผู้ติดยาเสพติดที่อาจถูกพบตัว โดยเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายและเข้ารับการบำบัดรักษาอยู่ในขณะนี้ ก็อยากขอให้ทุกท่านดำเนินการตามแนวทางที่โรงพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่กำหนดเพื่อประโยชน์ต่อตัวท่านเองในการบำบัดรักษา
เตรียมตัวอย่างไร
ผู้เสพผู้ติดยาเสพติดที่ประสงค์จะขอเข้ารับการบำบัดรักษา ขอให้มีความตั้งใจที่อยากจะเลิกยาเสพติด
ซึ่งจะทำให้ประสบผลสำเร็จในการบำบัดรักษา โดยมีขั้นตอนในการเตรียมตัว สำหรับผู้ป่วยที่สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาในโรงพยาบาล ดังนี้
๑) เตรียมความพร้อมผู้ป่วยและญาติผู้ดูแล ซึ่งทั้งผู้ป่วยและญาติต้องเข้าใจขั้นตอนการบำบัดรักษาว่ามีแนวทางอย่างไร ใช้เวลาเท่าไร
๒) เตรียมเอกสารที่แสดงตัวตนของผู้ป่วย เช่น บัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านหรือบัตรที่ทางราชการออกให้และมีรูปถ่ายของผู้ป่วยติดไว้
๓) การบำบัดรักษายาเสพติดไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ยกเว้น ถ้าหากมีโรคร่วมโรคแทรก เช่น วัณโรค ท้องเสีย ไวรัสตับอักเสบ ฯลฯ ผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิบัตรประกันสุขภาพหรือบัตรทอง บัตรประกันสังคม ร่วมได้ในสถานพยาบาลตามที่ระบุในบัตร
ผู้เสพยาเสพติดและญาติที่สนใจจะส่งบุตรหลานเข้ารับการรักษา สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน ๑๑๖๕ ตลอด ๒๔ ชั่วโมงหรือที่เว็บไซต์ www.thanyarak.go.th
ประเด็นคำถามที่ ๖ ขอเชิญชวนผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด และท่านที่มีผู้ใกล้ชิดที่เป็นผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดให้สมัครใจเข้ามารับการบำบัดรักษาฯ
เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า สำนักงาน ป.ป.ส. ขอเชิญชวนให้ผู้ที่ใช้ยาเสพติด หรือผู้ปกครองหรือครอบครัว นำผู้เสพซึ่งเราถือว่าเป็นผู้ป่วย เข้ามารับการบำบัดรักษาได้ที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง ซึ่งอาจจะเป็น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือโรงพยาบาลชุมชนที่เป็นโรงพยาบาลระดับอำเภอที่มีอยู่กว่า ๑ หมื่นแห่ง ทั่วประเทศ รวมไปถึงโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลเฉพาะทาง ซึ่งได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์ ที่มีอยู่ ๗ แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี และโรงพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิต จำนวน ๑๖ แห่ง
โดยการบำบัดรักษายาเสพติดจะไม่มีการเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่เสียประวัติ และได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมตามสภาพการเสพติดจากทีมงานสาธารณสุข รวมไปถึง ผู้เสพผู้ติดยาเสพติดที่อาจถูกพบตัว โดยเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายและเข้ารับการบำบัดรักษาอยู่ในขณะนี้ ก็อยากขอให้ทุกท่านดำเนินการตามแนวทางที่โรงพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่กำหนด เพื่อประโยชน์ต่อตัวท่านเองในการบำบัดรักษา
นอกจากนี้ สำนักงาน ป.ป.ส. ยังมีการให้ความช่วยเหลือเรื่องทุนประกอบอาชีพแก่ผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติด ในอัตรารายละไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท เพื่อให้ความช่วยเหลือเรื่องทุนประกอบอาชีพแก่ผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติด เพื่อให้คนเหล่านี้มีรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว สามารถกลับไปอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงลดอัตราการกลับไปเสพยาเสพติดซ้ำ โครงการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติด