สกธ.จัดการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “การพัฒนาระบบการเฝ้าระวัง การกระทำความผิดซ้ำในชุมชน” ครั้งที่ 2

15 ก.พ. 2564 23:50 น. 119 ครั้ง

สำนักงานกิจการยุติธรรม ร่วมกับ กรมราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จัดการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “การพัฒนาระบบการเฝ้าระวังการกระทำความผิดซ้ำในชุมชน” ครั้งที่ 2 ในวันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซนทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซนเตอร์ กรุงเทพมหานคร เพื่อรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และร่วมกันพัฒนาการกำหนดรูปแบบและแนวทางในการเฝ้าระวังแก้ไขปัญหาการกระทำผิดซ้ำของผู้พ้นโทษที่เคยกระทำความผิดในคดีที่มีความรุนแรงทางเพศ ร่างกาย และชีวิต ที่มีพฤติการณ์คดีที่มีลักษณะรุนแรงและสะเทือนขวัญแก่ประชาชน ทั้งในส่วนมาตรการระยะสั้น และระยะยาว รวมถึงแนวทางการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและการใช้เทคโนโลยีในการควบคุมสอดส่องที่มีประสิทธิภาพ

โดยกิจกรรมสัมมนาดังกล่าว สืบเนื่องจากนโยบายของนายสมศักดิ์  เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติรรม ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความแออัดในเรือนจำ และการลดการกระทำผิดซ้ำของผู้พ้นโทษ รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและความปลอดภัยในสังคม ที่จะนำกลุ่มผู้พ้นโทษที่มีลักษณะพิเศษ ซึ่งเป็นผู้ที่เคยกระทำผิดในคดีที่มีความรุนแรงทางเพศ ร่างกาย และชีวิต ที่มีพฤติการณ์คดีที่มีลักษณะรุนแรงและสะเทือนขวัญแก่ประชาชน ใน 7 ฐานความผิด ได้แก่ 1) ฆ่าหรือข่มขืนเด็ก 2) ฆ่าข่มขืน 3) ฆาตรกรต่อเนื่อง 4) ฆาตรกรโรคจิต 5) สังหารหมู่ 6) ชิงทรัพย์หรือปล้นทรัพย์โดยการฆ่า และ 7) นักค้ายาเสพติดรายสำคัญ โดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic Monitoring : EM) เป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตามเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยง และนำอาสาสมัครคุมประพฤติ ตลอดจนภาคีเครือข่ายในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตาม ตรวจสอบพฤติกรรม เป็นกลไกเฝ้าระวังทางสังคม เพื่อให้ผู้พ้นโทษมีพฤติกรรมในทางที่ดี และไม่ก่อปัญหาอาชญากรรม ทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมของชุมชนในการอยู่รวมกับผู้พ้นโทษที่มีลักษณะพิเศษ ที่จะทำให้ชุมชนมีความตื่นตัว เกิดการผสานพลัง และระดมทรัพยากรในชุมชนในการช่วยติดตามเฝ้าระวัง ตลอดจนสามารถให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือพัฒนาพฤตินิสัยผู้กระทำผิดได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกทางหนึ่ง เพื่อให้สอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงในการรักษาความสงบภายในประเทศ เป็นการส่งเสริมในประชาชนในประเทศมีความมั่นคงปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน

การสัมมนาดังกล่าว จะประกอบไปด้วย นักวิชาการจากส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม สภาทนาย เป็นต้น นักวิชาการจากภาคเอกชน มูลนิธิ NGO รวมถึงสถาบันการศึกษาทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมประมาณ 75 คน

ซึ่งการสัมมนาในครั้งนี้ คาดว่าจะส่งเสริมให้เกิดรูปแบบ แนวทาง และกลไกการเฝ้าระวังทางสังคม ทั้งในส่วนของมาตรการระยะสั้น และระยะยาว รวมถึงแนวทางการบูรณาการการทำงานร่ามกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการใช้เทคโนโลยีในการควบคุมสอดส่องที่มีประสิทธิภาพต่อไป อีกทั้ง ส่งผลให้สังคมเกิดความเชื่อมั่นในมาตรการของกระทรวงยุติธรรม ในการเฝ้าระวัง และกลไก ควบคุมดูแลผู้พ้นโทษที่มีลักษณะพิเศษ ซึ่งเป็นผู้ต้องขังที่มีลักษณะพิเศษซึ่งเป็นผู้ต้องขังที่เคยกระทำความผิดในคดีที่มีความรุนแรงทางเพศ ร่างกาย และชีวิต ที่มีพฤติการณ์คดีที่มีลักษณะรุนแรงและสะเทือนขวัญแก่ประชาชน เมื่อได้รับการปล่อยตัวกลับสู่ชุมชน

 

 

ขอเชิญร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของกระทรวงยุติธรรม

ท่านคิดว่าข้อมูลข่าวสารนี้มีประโยชน์มากน้อยเพียงใด

ท่านมีความเข้าใจในข้อมูลข่าวนี้มากน้อยเพียงใด

ท่านพึงพอใจในรูปแบบการนำเสนอข้อมูลข่าวสารมากน้อยเพียงใด