การประชุมหารือร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …    

9 ก.ค. 2564 18:27 น. 201 ครั้ง

        วันที่ 25 มิถุนายน 2564 พ.ต.ท.ดร.พงษ์ธร ธัญญสิริ ผอ.สกธ.เป็นประธานในการประชุมหารือร่างพ.ร.บ.ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. … โดยมีนายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รอง ผอ.สกธ. นางขัตติยา รัตนดิลก ผอ.สวพ. พร้อมด้วยผู้แทนจากกรมคุมประพฤติ โดย พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ นางสาวสายฝน จันทะพรม ผอ.กองอำนวยการบังคับใช้กฎหมายเพื่อการคุมประพฤติ และเจ้าหน้าที่กรมคุมประพฤติ เข้าร่วมการประชุม โดยในครั้งนี้ กรมคุมประพฤติ ได้นำเสนอร่างกฎหมายฉบับที่ขอปรับแก้ไข โดยเสนอให้มีการปรับแก้ไขจำนวน 27 มาตรา (ร่างที่ สกธ. เสนอ มีจำนวน 7 หมวด 47 มาตรา) เพื่อให้ร่างกฎหมายสามารถนำไปบังคับใช้ได้ และหน่วยงานผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ สรุปประเด็นสำคัญที่ขอปรับแก้ไข คือ การกำหนดนิยามในร่างกฎหมาย อาทิ ปรับแก้ นิยามคำว่า “การคุมประพฤติภายหลังพ้นโทษ” เป็น “การเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ” ตัดนิยามคำว่าสืบเสาะและพินิจ ผู้ถูกคุมความประพฤติ อาสาสมัครคุมประพฤติ และเพิ่มนิยาม ผู้ถูกเฝ้าระวัง เป็นต้น หมวด 1 คณะกรรมการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ เสนอให้เพิ่มกรมราชทัณฑ์เป็นผู้ช่วยฝ่ายเลขานุการ และปรับอำนาจหน้าที่ของกรมคุมประพฤติ หมวด 2 มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดเฉพาะราย ปรับแก้ไขอำนาจหน้าที่ จาก “พนักงานคุมประพฤติ” เป็น พนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการ” และปรับอำนาจหน้าที่ของกรมคุมประพฤติ หมวด 3 การคุมประพฤติภายหลังพ้นโทษ เสนอให้แก้ไขเป็น “การใช้มาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำภายหลังพ้นโทษ เพิ่มการจัดส่งข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ให้ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชน เพิ่มการรับการรักษาจากแพทย์ภายใต้การดูแลในสถานบำบัดของกระทรวงสาธารณสุข หมวด 4 การคุมขังภายหลังพ้นโทษ เพิ่มอำนาจให้ศาลสามารถสั่งให้รับการรักษาจากแพทย์ภายใต้การดูแลในสถานบำบัดของกระทรวงสาธารณสุข ปรับแก้ไข เงื่อนไขในการคุมประพฤติภายหลังพ้นโทษ หมวด 5 การคุมขังฉุกเฉิน ปรับแก้ไขผู้มีอำนาจหน้าที่ในการร้องขอต่อศาลเพื่อออกคำสั่งคุมขังฉุกเฉิน จากเดิม "พนักงานคุมประพฤติ" เป็น "เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง” หมวด 6 การปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มีประวัติเป็นผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง เสนอให้ตัดออกเนื่องจากซ้ำซ้อนกับพระราชบัญญัติมาตรการกำกับและติดตามจับกุมผู้หลบหนีการปล่อยชั่วคราวโดยศาล พ.ศ. 2560

       ทั้งนี้ จะได้ปรับแก้ไขร่างกฎหมายให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของร่างกฎหมาย และนำเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม ในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ต่อไป

ขอเชิญร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของกระทรวงยุติธรรม

ท่านคิดว่าข้อมูลข่าวสารนี้มีประโยชน์มากน้อยเพียงใด

ท่านมีความเข้าใจในข้อมูลข่าวนี้มากน้อยเพียงใด

ท่านพึงพอใจในรูปแบบการนำเสนอข้อมูลข่าวสารมากน้อยเพียงใด