การประชุมคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม ครั้งที่ 3/2564  

9 ก.ค. 2564 18:31 น. 118 ครั้ง

  วันที่ 30 มิถุนายน 2564 ณ ห้องประชุม 10-01 อาคารกระทรวงยุติธรรม ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม ครั้งที่ 3/2564
เพื่อพิจารณา “ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. … (ร่างกฎหมายติดตามผู้พ้นโทษในคดีร้ายแรงที่เป็นอันตราย/JSOC)” ที่สำนักงานกิจการยุติธรรมเป็นผู้เสนอ ทั้งนี้ พ.ต.ท.ดร.พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม นายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม และนางขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม ได้เข้าร่วมเพื่อนำเสนอกรอบแนวคิดและหลักการของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวต่อที่ประชุมด้วยเพื่อให้มีบทบัญญัติในการเฝ้าระวังและป้องกันการก่ออาชญากรรมสะเทือนขวัญ สร้างความปลอดภัยให้สังคม แก้ไขปัญหาและลดอัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้พ้นโทษ ตลอดจนมีกฎหมายที่กำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการติดตาม ควบคุม และสอดส่องผู้พ้นโทษที่กระทำความผิดซ้ำซากในคดีร้ายแรง อุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ หรือมีความเสี่ยงในการกลับมากระทำผิดซ้ำ

  โดยมติของที่ประชุม คือ ความเห็นในภาพรวม เห็นชอบในหลักการของร่างกฎหมาย โดยมีข้อสังเกตให้ปรับแก้ไขในบางประเด็น อาทิ คำนิยามเรื่องคุมประพฤติภายหลังพ้นโทษหรือการเฝ้าระวัง และการสืบเสาะพินิจ (ร่างมาตรา 3) , การกำหนดอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และพนักงานคุมประพฤติ (ร่างมาตรา 13) , การปล่อยตัวชั่วคราว (ร่างมาตรา 45-47) และหลักการภาพรวมของร่างกฎหมายที่ควรคำนึงถึง ได้แก่ เหตุผลความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายใหม่ ความซ้ำซ้อนกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน (กักกัน, วิธีการเพื่อความปลอดภัย) ความซ้ำซ้อนกับภารกิจของหน่วยงาน ซึ่งต้องอธิบายสาระสำคัญของร่างกฎหมายให้ชัดเจนว่านำมาแก้ไขปัญหาในเรื่องใด ความเหมาะสมของมาตรการที่กำหนด และความเป็นไปได้ในการบังคับใช้กฎหมาย และการปฏิบัติงานของหน่วยงาน โดยสำนักงานกิจการยุติธรรม จะได้เร่งดำเนินการปรับแก้ไขร่างกฎหมายตามข้อสังเกตและข้อเสนอแนะข้างต้น และนำเสนอต่อกระทรวงยุติธรรมพิจารณา พร้อมผลักดันเสนอต่อคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป

ขอเชิญร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของกระทรวงยุติธรรม

ท่านคิดว่าข้อมูลข่าวสารนี้มีประโยชน์มากน้อยเพียงใด

ท่านมีความเข้าใจในข้อมูลข่าวนี้มากน้อยเพียงใด

ท่านพึงพอใจในรูปแบบการนำเสนอข้อมูลข่าวสารมากน้อยเพียงใด