กฎหมายน่ารู้ ตอนที่ 351 : เมนูจานเด็ดจากเนื้อสัตว์ป่า ระวังคุก 5 ปี ปรับ 5 แสน

16 ธ.ค. 2564 09:08 น. 164 ครั้ง

กฎหมายน่ารู้ ตอนที่ 351 : เมนูจานเด็ดจากเนื้อสัตว์ป่า ระวังคุก 5 ปี ปรับ 5 แสน

 

การบริโภคอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า เป็นการส่งเสริมให้เกิดค่านิยมในการบริโภคเนื้อสัตว์ป่า มีผลทางอ้อมทำให้เกิดการล่าสัตว์ป่ามาขาย เพื่อนำมาประกอบอาหารในร้านค้า ทำให้สัตว์ป่าสงวน และสัตว์ป่าคุ้มครองบางชนิดใกล้สูญพันธุ์เพราะค่านิยมในการบริโภคอาหารสัตว์ป่าที่ผิด ๆ จากข้อมูลชวนเชื่อ

 

ค้าสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากสัตว์ป่าดังกล่าว หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ดังกล่าว มีความผิดตาม มาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 หากฝ่าฝืนกระทำต่อสัตว์ป่าคุ้มครอง ซากสัตว์ป่าคุ้มครองหรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าคุ้มครอง มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

 

ผู้ที่มีรสนิยมบริโภคอาหารสัตว์ป่า ผู้สั่งอาหารที่มีส่วนประกอบของเนื้อหรือซากสัตว์ป่าคุ้มครองก็มีความผิดตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ฐานมีไว้ครอบครองซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากสัตว์ป่าดังกล่าว โดยมิได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ 

 

นิยามของ “ซากสัตว์ป่า” ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 4 “ซากสัตว์ป่า” หมายความว่า ร่างกาย หรือส่วนของร่างของสัตว์ป่าที่ตายแล้ว หรือเนื้อของสัตว์ป่า ไม่ว่าจะได้ปิ้ง ต้ม รม ย่าง ตากแห้ง หมัก ดอง หรือทำอย่างอื่น ฯลฯ และไม่ว่าจะชำแหละ แยกออก หรืออยู่ในร่างของสัตว์ป่านั้น เพราะฉะนั้นการนำไปประกอบอาหาร ถึงแม้จะนำเนื้อ หรือซากสัตว์ป่าสงวน หรือสัตว์ป่าคุ้มครองไป ผัด ปิ้ง ต้ม ยำ ย่าง อื่นๆ แล้วก็ตาม ในทางกฎหมายก็ถือว่า เป็นเนื้อ หรือซากสัตว์ป่า

 

พบเห็นการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรสายด่วน 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

ข้อมูลจาก : พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 4 มาตรา 17 มาตรา 29 มาตรา 89มาตรา 92

เอกสารแนบ

ขอเชิญร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของกระทรวงยุติธรรม

ท่านคิดว่าข้อมูลข่าวสารนี้มีประโยชน์มากน้อยเพียงใด

ท่านมีความเข้าใจในข้อมูลข่าวนี้มากน้อยเพียงใด

ท่านพึงพอใจในรูปแบบการนำเสนอข้อมูลข่าวสารมากน้อยเพียงใด