สยจ. ตราด ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ กรณี รถบรรทุกน้ำยางเสียหลักแหกโค้งพลิกตะแคง และชนประสานงากับรถบรรทุกดิน เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 เกิดเหตุรถบรรทุกชนประสานงากัน เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต เหตุเกิดบริเวณถนนหนองเสม็ด-เขาระก้า หมู่ที่ 4 ตำบลวังกระแจะ อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุพบรถบรรทุกหกล้อ ยี่ห้ออีซูซุ สีขาว บรรทุกดินมาเต็มคันรถ สภาพด้านหน้าพังเสียหาย กระจกหน้าแตก ชนอยู่กับรถบรรทุกสี่ล้อ ยี่ห้ออีซูซุ สีขาว อยู่ในสภาพพลิกตะแคง ตัวรถยุบติดกับส่วนกระบะ ถังน้ำยางที่บรรทุกมาหกเต็มพื้นถนน และพบผู้เสียชีวิตในเป็นชายอายุ 33 ปี พบผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย เป็นชายอายุ 28 ปี และชายอายุ 19 ปี ได้บาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา คนขับรถบรรทุกหกล้อเล่าว่า ตนกำลังขับรถบรรทุกไปส่งดินให้ลูกค้า เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุเป็นทางโค้ง ขณะนั้นได้มีรถบรรทุกสี่ล้อที่ขับสวนทางมาด้วยความเร็วและเกิดหลุดโค้ง ตนพยายามเบรกแต่ไม่ทัน ทำให้รถบรรทุกสี่ล้อชนประสานงากับรถของตนอย่างจัง เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้บันทึกภาพในที่เกิดเหตุไว้เป็นหลักฐานและทำการสอบสวนเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
สำนักงานยุติธรรมจังหวัดตราดดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 เจ้าหน้าที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดตราดได้ลงพื้นที่ไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรเขาสมิง เพื่อสอบถามข้อมูลคดี ได้รับแจ้งว่า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นทางโค้ง และก่อนถึงทางโค้งพบร่องรอยของการขูดบนพื้นถนนเป็นทางยาว ซึ่งคาดว่ารถบรรทุกสี่ล้อได้เสียการควบคุมและเสียหลักพลิกตะแคง จากนั้นได้ไถลไปกับพื้นถนนและชนราวกั้นถนน และชนประสานงากับรถบรรทุกหกล้อที่ขับสวนทางมา โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากความประมาทของคนขับรถบรรทุกสี่ล้อแต่เพียงฝ่ายเดียว เนื่องจากได้ขับรถล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของรถบรรทุกหกล้อจนเกิดอุบัติเหตุ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการแจ้งสิทธิตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 (แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559) แก่ทายาทของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ
จากการวิเคราะห์เบื้องต้น หากผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมีสิทธิที่จะได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาในฐานะเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา ตามมาตรา 3 ประกอบมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติค่าตอบแทนฯ
กรณีความผิดต่อชีวิต ดังนี้
(1) ค่าตอบแทนกรณีถึงแก่ความตาย จำนวน 30,000 บาท
(2) ค่าจัดการศพ จำนวน 20,000 บาท
(3) ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู จำนวน 40,000 บาท
รวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 90,000 บาท
กรณีความผิดต่อร่างกาย ดังนี้
(1) ค่ารักษาพยาบาล ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 40,000 บาท
(2) ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายจิตใจ ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 20,000 บาท
(3) ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติให้จ่ายในอัตราค่าแรงขั้นต่ำในพื้นที่จังหวัดที่ประกอบการงาน (จังหวัดตราดเป็นจำนวนเงิน 340 บาท/วัน) เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี
(4) ค่าความเสียหายอื่น จ่ายไม่เกิน 50,000 บาท
ทั้งนี้ การพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา เป็นดุลพินิจของคณะอนุกรรมการฯ ประจำจังหวัดพิจารณาเป็นสำคัญ